วันพุธที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

ประโยคที่ใช้ในการสื่อสาร


ประโยค คือ คำหลาย ๆ คำ หรือวลีที่นำมาเรียงต่อกันอย่างเป็นระเบียบให้แต่ลำคำมีความสัมพันธ์กัน มีใจความสมบูรณ์ ซึ่งแสดงให้รู้ว่า ใคร ทำอะไร ที่ไหน อย่างไร
ในสื่อการเรียนรู้นี้ เราจะมาทำความรู้จักกับประโยคให้มากขึ้น โดยมีเนื้อหาดังนี้
ประโยคหนึ่ง ๆ จะต้องมีภาคประธานและภาคแสดงเป็นหลัก และอาจมีคำขยายส่วนต่าง ๆ ได้ ดังแผนโครงสร้างต่อไปนี้

๑)ภาคประธาน
               ภาคประธานในประโยค คือ คำหรือกลุ่มคำที่ทำหน้าที่เป็นผู้กระทำ ผู้แสดง ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของประโยค ภาคประธานนี้อาจมีบทขยายซึ่งเป็นคำหรือกลุ่มคำมาปาระกอบ เพื่อทำให้มีใจความชัดเจนยิ่งขึ้น
๒)ภาคแสดง
               ภาคแสดงในประโยค คือ คำหรือกลุ่มคำที่ประกอบไปด้วยบทกริยา บทกรรม และส่วนเติมเต็ม บทกริยาทำหน้าที่เป็นตัวกระทำหรือตัวแสดงของประธาน ส่วนบทกรรมทำหน้าที่เป็นผู้ถูกกระทำ และส่วนเติมเต็มทำหน้าที่เสริมใจความของประโยคให้สมบูรณ์ คือทำหน้าที่คล้ายบทกรรม แต่ไม่ใช่กรรม เพราะมิได้ถูกกระทำ
ประโยคในภาษาแบ่งเป็น ๓ ชนิด ตามโครงสร้างการสื่อสารดังนี้
๑) ประโยคความเดียว
ประโยคความเดียว คือ ประโยคที่มีข้อความหรือใจความเดียว ซึ่งเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า เอกรรถประโยค เป็นประโยคที่มีภาคประธานเพียงบทเดียว และมีภาคแสดงหรือกริยาสำคัญเพียงบทเดียว หากภาคประธานและภาคแสดงเพิ่มบทขยายเข้าไป ประโยคความเดียวนั้นก็จะเป็นประโยคความเดียวที่ซับซ้อนยิ่งขึ้น
๒) ประโยคความรวม
ประโยคความรวม คือ ประโยคที่รวมเอาโครงสร้างประโยคความเดียวตั้งแต่ ๒ ประโยคขึ้นไปเข้าไว้ในประโยคเดียวกัน โดยมีคำเชื่อมหรือ สันธาน ทำหน้าที่เชื่อมประโยคเหล่านั้นเข้าด้วยกัน ประโยคความรวมเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า อเนกรรถประโยค
ประโยคความรวมแบ่งใจความออกเป็น ๔ ประเภท ดังนี้
๒.๑) ประโยคที่มีความคล้อยตามกัน ประโยคความรวมชนิดนี้ประกอบด้วยประโยคเล็กตั้งแต่ ๒ ประโยคขึ้นไป มีเนื้อความคล้อยตามกันในแง่ของความเป็นอยู่ เวลา และการกระทำ
ตัวอย่าง
ทรัพย์ และ สินเป็นลูกชายของพ่อค้าร้านสรรพพาณิชย์
ทั้งทรัพย์ และ สินเป็นนักเรียนโรงเรียนอาทรพิทยาคม
ทรัพย์เรียนจบโรงเรียนมัธยม แล้ว ก็ไปเรียนต่อที่วิทยาลัยอาชีวศึกษา
พอ สินเรียนจบโรงเรียนมัธยม แล้ว ก็มาช่วยพ่อค้าขาย
สันธานที่ใช้ใน ๔ ประโยค ได้แก่ และ ทั้ง และ, แล้วก็,พอ แล้วก็
หมายเหตุ : คำ แล้วเป็นคำช่วยกริยา มิใช่สันธานโดยตรง
๒.๒) ประโยคที่มีความแย้งกัน ประโยคความรวมชนิดนี้ ประกอบด้วยประโยคเล็ก ๒ ประโยค มีเนื้อความที่แย้งกันหรือ แตกต่างกันในการกระทำ หรือผลที่เกิดขึ้น
ตัวอย่าง
พี่ตีฆ้อง แต่ น้องตีตะโพน
ฉันเตือนเขาแล้ว แต่ เขาไม่เชื่อ
เขาคิดว่าเขาทำได้ แต่แล้ว เขาก็พลาด
เขาต้องการทำงานนี้มาก หากแต่ สุขภาพของเขาไม่อำนวย
๒.๓) ประโยคที่มีความให้เลือก ประโยคความรวมชนิดนี้ ประกอบด้วยประโยคเล็ก ๒ ประโยคและกำหนดให้เลือกอย่างใด อย่างหนึ่ง
ตัวอย่าง
ไปบอกนายกิจ หรือ นายก้องให้มานี่คนหนึ่ง
คุณชอบดนตรีไทย หรือ ดนตรีสากล
เธอควรจะไปงานนี้ หรือมิฉะนั้น ก็ส่งใครไปแทน
เขาจะมาเอง หรือว่า เขาจะให้คนอื่นมา
๒.๔) ประโยคที่มีความเป็นเหตุเป็นผลแก่กัน ประโยคความรวมชนิดนี้ประกอบด้วยประโยคเล็ก ๒ ประโยค ประโยคแรก เป็นเหตุ ประโยค หลัง เป็น ผล
ตัวอย่าง
เขามีความเพียรมาก เพราะฉะนั้น เขาจึง ประสบความสำเร็จ
คุณสุดาไม่อิจฉาใคร เธอ จึง มีความสุขเสมอ
คนมักง่ายชอบทิ้งขยะ บ้านเมือง จึง สกปรกเต็มไปด้วยมลพิษ
การจราจรในกรุงเทพฯ ติดขัดมาก ฉัน จึง ไม่ค่อยอยากออกจากบ้าน
ข้อสังเกต
๑) สันธานเป็นคำเชื่อมที่จำเป็นต้องมีในประโยคความรวม และจะต้องใช้ให้เหมาะสมกับเนื้อความในประโยค ดังนั้นจึงกล่าวได้ว่า สันธานเป็นเครื่องกำหนดหรือชี้บ่งว่าประโยคนั้นมีใจความแบบใด
๒) สันธานบางคำประกอบด้วยคำสองคำ หรือสามคำเรียงอยู่ห่างกัน เช่น ฉะนั้น จึง, ทั้ง และ, แต่ ก็ สันธานเช่นนี้เรียกว่า สันธานคาบมักจะมีคำอื่นมาคั่นกลางอยู่จึงต้องสังเกตให้ดี
๓) ประโยคเล็กที่เป็นประโยคความเดียวนั้น เมื่อแยกออกจากประโยคความรวมแล้ว ก็ยังสื่อความหมายเป็นที่เข้าใจได้
๓) ประโยคความซ้อน
ประโยคความซ้อน คือ ประโยคที่มีใจความสำคัญเพียงใจความเดียว ประกอบด้วยประโยคความเดียวที่มีใจความสำคัญเป็นประโยคหลัก (มุขยประโยค) และมีประโยคความเดียวที่มีใจความเป็นส่วนขยายส่วนใดส่วนหนึ่งของประโยคหลัก เป็นประโยคย่อยซ้อนอยู่ในประโยคหลัก (อนุประโยค) โดยทำหน้าที่แต่งหรือประกอบประโยคหลัก ประโยคความซ้อนนี้เดิทเรียกว่า สังกรประโยค
อนุประโยคหรือประโยคย่อยมี ๓ ชนิด ทำหน้าที่ต่างกัน ดังต่อไปนี้

            ๓.๑) ประโยคย่อยที่ทำหน้าที่แทนนาม (นามมานุประโยค) อาจใช้เป็นบทประธานหรือ บทกรรม หรือ ส่วนเติมเต็มก็ได้ ประโยคย่อยนี้เป็นประโยคความเดียวซ้อนอยู่ในประโยคหลักไม่ต้องอาศัยบทเชื่อม หรือคำเชื่อม
§  ตัวอย่างประโยคความซ้อนที่ประโยคย่อยทำหน้าที่แทนนาม
คนทำดีย่อมได้รับผลดี
คนย่อมได้รับผลดี      :      ประโยคหลัก
คนทำดี                 :      ประโยคย่อยทำหน้าที่เป็นบทประธาน
        ครูดุนักเรียนไม่ทำการบ้าน
ครูดุนักเรียน                   :     ประโยคหลัก
นักเรียนไม่ทำการบ้าน   :      ประโยคย่อยทำหน้าที่เป็นบทกรรม
สุนัขเห่ามักเป็นสุนัขไม่กัด
สุนัขเป็นสุนัขไม่กัด    :      ประโยคหลัก
สุนัขเห่า               :      ประโยคย่อยทำหน้าที่เป็นประธานของประโยค
            ๓.๒) ประโยคย่อยที่ทำหน้าที่เป็นบทขยายประธานหรือบทขยายกรรมหรือบทขยายส่วนเติมเต็ม (คุณานุประโยค) แล้วแต่กรณี มีประพันธสรรพนาม (ที่ ซึ่ง อัน ผู้) เชื่อมระหว่างประโยคหลักกับประโยคย่อย
§  ตัวอย่างประโยคความซ้อนที่ประโยคย่อยทำหน้าที่เป็นบทขยาย
คนที่ประพฤติดีย่อมมีความเจริญในชีวิต
ที่ประพฤติดี ขยายประธาน  คน
แยกประโยค  ที่        =        คนย่อมมีความเจริญในชีวิต        :        ประโยคหลัก
                                    =        (คน) ประพฤติดี                                :        ประโยคย่อย
ฉันอาศัยบ้านซึ่งอยู่บนภูเขา
ซึ่งอยู่บนภูเขา ขยายกรรม  บ้าน
แยกประโยค  ซึ่ง     =        ฉันอาศัยบ้าน                                 :        ประโยคหลัก
                                   =        (บ้าน) อยู่บนภูเขา                         :        ประโยคย่อย
พระบรมราโชวาทในรัชกาลที่ ๕ เป็นสุภาษิตอันมีค่ายิ่ง
อันมีค่ายิ่ง ขยายส่วนเติมเต็ม  เป็น
แยกประโยค  อัน     =        พระบรมราโชวาทในรัชกาลที่ ๕ เป็นสุภาษิต        :        ประโยคหลัก
                                    =        (สุภาษิต) อันมีค่ายิ่ง                                                :        ประโยค ย่อย
๓.๓) ประโยคย่อยที่ทำหน้าที่เป็นบทขยายคำกริยา หรือ บทขยายคำวิเศษณ์ในประโยคหลัก (วิเศษณานุประโยค) มีคำเชื่อม (เช่น เมื่อ จน เพราะ ตาม ให้ ฯลฯ) ซึ่งเชื่อมระหว่างประโยคหลักกับประโยคย่อย
§  ตัวอย่างประโยคความซ้อนที่ประโยคย่อยทำหน้าที่เป็นบทกริยาหรือบทขยายวิเศษณ์
เขาเรียนเก่งเพราะเขาตั้งใจเรียน
แยกประโยค  เพราะ         =        เขาเรียนเก่ง          :        ประโยคหลัก
                                              =        (เขา) ตั้งใจเรียน  :        ประโยคย่อยขยายกริยา
§  คนงานทำงานหนักจนล้มเจ็บไปหลายวัน
แยกประโยค  จน            =        คนงานทำงานหนัก                   :        ประโยคหลัก
                                           =        (คนงาน) ล้มเจ็บไปหลายวัน    :        ประโยคย่อย (ขยายกริยาและวิเศษณ์ ทำงานหนัก)
ครูรักศิษย์เหมือนแม่รักลูก
แยกประโยค  เหมือน =        ครูรักศิษย์        :        ประโยคหลัก
                                       =        แม่รักลูก           :        ประโยคย่อย (ขยายส่วนเติมเต็มของกริยาเหมือน

ไม่มีความคิดเห็น: